srikho tv

ข่าวสาร ทั่วไป และวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ชาวอำเภอบัวเชดร่วมบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล

ชาวอำเภอบัวเชด ร่วมบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อขอให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.30 น. ที่หอประชุมโรงเรียนบัวเชดวิทยา อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ โรงพยาบาลบัวเชด สาธารณสุขอำเภอบัวเชด โรงพยาบาลรวมแพทย์สุรินทร์ โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ในพื้นที่อำเภอบัวเชด ทั้ง 6 ตำบล ได้ร่วมกันออกหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิต เพื่อเก็บสมทบเข้าไว้ในคลังเลือดโรงพยาบาลสุรินทร์ โดยมีหน่วยงานราชการ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า และประชาชนจาก 6 ตำบล ต่างพร้อมใจกันเดินทางมาร่วมบริจาคโลหิตเป็นจำนวนมาก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อขอให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว ทั้งนี้ นายบรรลุ สุวรรณดี ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอบัวเชด ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชน มาร่วมบริจาคโลหิต ซึ่งมีประชาชน พระภิกษุสงฆ์ ทหาร ตำรวจ จำนวนมากที่ทราบข่าวได้ทยอยเดินทางมาร่วมบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หน่วยกาชาดอำเภอบัวเชด ได้จัดข้าวสารหอมมะลิมามอบให้กับผู้ร่วมบริจาคโลหิต และคณะกรรมการ กต.ตร.สภ.บัวเชด ได้จัดทำก๋วยเตี๋ยวเนื้อหมูลูกชิ้นมาให้บริการฟรีแก่ผู้ที่มาร่วมบริจาคโลหิตในครั้งนี้ โดยรับการสนับสนุนจากนายชนะชล มูลจันทร์ ประธานฯกต.ตร.สภ.บัวเชด นายบรรลุ สุวรรณดี ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอบัวเชด กล่าวขอบคุณประชาชนชาวอำเภอบัวเชดทุกๆท่านที่มาร่วมบริจาคโลหิตในครั้งนี้ และขอบคุณภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนอาหารพร้อมเครื่องดื่มไว้คอยบริการผู้ที่มาบริจาคโลหิต ซึ่งการออกหน่วยรับบริจาคโลหิตในครั้งนี้มีผู้มาบริจาคโลหิตจำนวน 330 ราย บริจาคโลหิตได้จำนวน 263 ราย ไม่ผ่าน 67 ราย

นุ่งผ้าไหม ใส่ปะเกือม เรือมกันตรึม

อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ จัดงานเทศกาล "นุ่งผ้าไหม ใส่ปะเกือม เรือมกันตรึม" สืบสานมรดกภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่มีมานานกว่า 500 ปี โดยเฉพาะงานช่างทอและช่างทำปะเกือม เครื่องประดับโบราณทำจากเงิน อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นระดับชาติ วันที่ 9 ก.พ. 66 ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงาน "นุ่งผ้าไหม ใส่ปะเกือม เรือมกันตรึม" ประจำปี 2566 เพื่อสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมช่องทางการตลาด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน ซึ่งประชาชนอำเภอเขวาสินรินทร์ทุกเพศทุกวัยต่างพร้อมใจใส่ชุดผ้าไหม และเครื่องประดับที่ทำจากเงิน ที่เรียกว่า "ปะเกือม" เพื่อแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่มีมากว่า 500 ปี อำเภอเขวาสินรินทร์ ถือเป็นชุมชนโบราณทางประวัติศาสตร์ในสมัยอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ และถือเป็นชุมชนบริวารของเมืองประทายสมันต์ หรือ เมืองสุรินทร์ มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการขุดพบเครื่องใช้สมัยโบราณหลายรายการ ซึ่งจากการตรวจสอบทางโบราณคดียืนยันได้ว่ามีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี และที่ยืนยันว่าอำเภอเขวาสินรินทร์เป็นเมืองบริวารคู่กันมากับเมืองประทายสมันต์ มรดกทางวัฒนธรรมประเพณีที่ชุมชนได้สืบทอดต่อกันมา อาทิ กันตรึม, ลิเกเขมร และมีหมู่บ้านทอผ้าไหมที่สืบสานลายดอกมาแต่โบราณ ที่สำคัญและเป็นที่เลื่องชื่อ คือการทำปะเกือม เครื่องประคำ ซึ่งมีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ล้ำค่าทางภูมิปัญญาระดับชาติ และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ขบวนแห่ของดี 5 ตำบลที่คนในขบวนต่างก็นุ่งผ้าไหม และใส่เครื่องประดับคือปะเกือมอย่างสวยงาม และที่สำคัญในแต่ละขบวนก็จะมีวงกันตรึมบรรเลงเพื่อฟ้อนรำกันตรึมกันอย่างสวยงาม และสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีการเดินแบบแฟชั่นผ้าไหมจากนายแบบและนางแบบกิตติมศักดิ์ การประกวดธิดาปะเกือม การประกวดผลผลิตทางการเกษตร การแสดงนิทรรศการและจำหน่ายสินค้า OTOP การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการประกวดผ้าไหม และเครื่องปะเกือม เครื่องประดับที่ทำจากเงิน โดยการจัดงานเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 – 11 กุมภาพันธ์ 2566 ช่วงกลางคืนมีการแสดงลิเก มวยไทย ให้ได้รับชมตลอดคืน

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

พิธีรับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผัก

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ณ.ศาลาประชาคมหมู่บ้านหนองพุก ต.หนองบัว อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ พิธีรับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีนายกิตติ สัตย์ซื่อ นายอำเภอศีขรภูมิ เป็นประธานในพิธี มีนายก อบต.หนองบัว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว พนักงาน อบต. และประชาชนเข้าร่วมงาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี พระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชและผักให้เกษตรกรได้มีพืชผักที่มีสายพันธุ์ที่ดี ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรด้านพันธุ์พืชผักที่ ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดีศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จึงผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและผักพระราชทานเพื่อนำไปช่วยเหลือ พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไป ที่บ้านหนองพุก ตำบลหนองบัว อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ได้ประสาน ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เพื่อขอพระราชทานเมล็ดพันธุ์พืชและผักได้ ปลูกผักไว้กินเอง ลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน ตำบลหนองบัว อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ได้รับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริเพื่อนำไปปลูกไว้รับประทานและสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในรุ่นต่อไป อีกทั้งยังสามารถแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้แก่บุคคลอื่น เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาทำการเกษตรปลอดภัย และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

โรงพยาบาลบัวเชด ออกพื้นที่คัดกรองสุขภาพและประเมินความสามมรถในผู้สูงวัย

โรงพยาบาลบัวเชด นำเจ้าหน้าที่ออกพื้นที่คัดกรองสุขภาพและประเมินความสามารถให้กับผู้สูงวัย วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 โรงพยาบาลบัวเชด นำทีมโดย นส.ประกายดาว แก้วดี พยาบาลวิชาชีพปฎิบัติการ นส.มุกดา ศรีพิมพ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ นส.พชรภา สาเทียน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ได้ออกพื้นที่ จัดทำโครงการคัดกรองสุขภาพและประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน(ADL)ในผู้สูงอายุวัย ต.บัวเชด อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ณ. ที่ศาลาประชาคมบ้านหมื่นสังข์

นายอำเภอสังขะนำจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจ

นายอำเภอสังขะนำจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ ร่วมกันกำจัดวัชพืช แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงภูมิทัศน์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 น. นายสันติ โอฆะพนม นายอำเภอสังขะ นายอภิวัฒน์ พัวภัทรพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อบต.ดม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ตำรวจ สภ.ดม และประชาชนจิตอาสาตำบลดม จำนวน 120 คน ได้ร่วมกันกำจัดวัชพืชบริเวณสระปรือ หมู่ที่ 5 ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ นายสันติ โอฆะพนม นายอำเภอสังขะ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ความสำคัญในการดำเนินการกำจัดวัชพืช เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นับวันจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะปัญหาวัชพืชชนิดต่างๆตามแหล่งน้ำ ที่ทำให้น้ำเน่าเสีย กีดขวางการสัญจรการไหลระบายของน้ำ และทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน กระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยย้ำว่า ทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะวัชพืชในน้ำเป็นปัญหาสำคัญมีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาวัชพืชชนิดต่างๆนั้น จึงมิใช่เพียงการดำเนินการให้แล้วเสร็จเท่านั้น แต่ต้องมีการติดตามแก้ไขอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยอาศัยกลไกในพื้นที่ คือท้องถิ่นบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีภาครัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุนเสริมศักยภาพความพร้อมในการดำเนินการ นายอภิวัฒน์ พัวภัทรพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดม กล่าวว่า ภายในบริเวณสระปรือได้ประสบปัญหาคือจำนวนของวัชพืชต่างๆเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว องค์การบริหารส่วนตำบลดมได้บูรณาการการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน หมู่บ้าน จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา “กำจัดวัชพืช” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อลดปัญหาน้ำดิบไม่สะอาดและการเน่าเสียของน้ำลดปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขินเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ ร่วมทั้งการเพื่อฟื้นฟูและการอนุรักษ์แหล่งน้ำ

ผลการประกวดรอบคัดเลือกศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี 2566

ผลการประกวดรอบคัดเลือกศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2566 มีทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ การประกวดศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี 2566 “รวมใจภักดิ์ 5 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ณ.สวน เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (สวนใหม่)อำเภอเมืองสุรินทร์ จำนวน 7 ทีม (เรียงตามลำดับตัวอักษร) ดังนี้ 1. ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 2. ทีมโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ 3. ทีมโรงเรียนพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี 4. ทีมโรงเรียนมัธยมด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 5. ทีมโรงเรียนมัธยมวัดด่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ 6. ทีมโรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม จังหวัดขอนแก่น 7. ทีมโรงเรียนสตรีสิริเกศ จังหวัดศรีสะเกษ ☎️สอบถามโทร 0887235944, 044515227

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

วันทหารผ่านศึก ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

วันทหารผ่านศึก ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่รัฐบาลได้จัดตั้ง "องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานถาวร ทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ "ทหารผ่านศึก" และครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง โดยมีการร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่าวันนี้เป็นวันทหารผ่านศึกตลอดมา วันทหารผ่านศึก เป็นวันที่ทหารไทยกลับมาจากการรบสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการช่วยเหลือครอบครัวทหาร ที่เสียชีวิตจากการรบ มีการสงเคราะห์โดยผ่านการเห็นจากรัฐบาล มีประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2510 องค์การทหารผ่านศึก ได้เปลี่ยนมาเป็นองค์การกุศลของรัฐมาเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมาย และกระทรวงกลาโหมจะจัดกองทุนรับเงินอุดหนุนขึ้น หน้าที่ของทหารผ่านศึก คือ การสงเคราะห์ด้านสวัสดิการ เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษาและการจัดหาอวัยวะเทียม และยังมีการสงเคราะห์ด้านอาชีพ โดยฝึกอบรมอาชีพ จัดหางานในต่างประเทศ และการสงเคราะห์ด้านเกษตรกรรม จัดหาที่ดินทำกินให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องมือ และกองทุนต่างๆ จัดหาเงินให้สมาชิก ได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพอีก และยังมีการรักษาพยาบาลฟรี โดยการส่งเสริมของทหารผ่านศึกโดยการขอสิทธิพิเศษด้านต่างๆ เช่น ขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น