srikho tv

ข่าวสาร ทั่วไป และวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี

วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566

จังหวัดสุรินทร์ จัดโครงการสร้างสุขสร้างรอยยิ้ม เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข กับประชาชน ประจำปี 2566

จังหวัดสุรินทร์ จัดโครงการ สร้างสุข สร้างรอยยิ้ม เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน วันที่ 21 พฤษภาคม 2566 ที่โรงเรียนบ้านขี้เหล็ก ตำบลโนน อ. โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ นาย พิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดโครงการจังหวัดสุรินทร์สร้างสุข สร้างรอยยิ้ม ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน โดยการนำบริการจากภาครัฐไปบริการประชาชนในพื้นที่โดยตรง เพื่อแบ่งเบาภาระในการเดินทางของประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้มอบพันธุ์ปลา จำนวน 30,000 ตัว ให้กำนันตำบลโนน เป็นตัวแทนผู้รับมอบ และมอบเวชภัณฑ์สัตว์ 1 ชุด ให้กับนายก องค์การบริหารส่วนตำบลโนน เป็นผู้รับมอบ นางนุชจรินทร์ บุญทันนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการ/สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ และแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ ได้มอบจักรยานให้เด็กเรียนดีแต่ยากจน จำนวน 5 ราย มอบทุนกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 24 ทุน ๆ ละ 1,500 บาท มอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่งจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 20 ทุนๆ และมอบเครื่องอุปโภค-บริโภค ให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ ในพื้นที่จำนวน 50 ชุด ในกิจกรรมมีการนำบริการจากภาครัฐไปบริการประชาชนหลายด้าน ทั้งภาคการเกษตร แรงงาน สุขภาพ การจำหน่ายสินค้าโอทอป มาบริการเป็นจำนวนมาก โดยมีประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียง ร่วมใช้บริการโครงการในครั้งนี้ จากนั้น นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ ร่วมโครงการจังหวัดสร้างสุข สร้างรอยยิ้ม อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ โดย นางนุชจรินทร์ บุญทัน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์/ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนางวาสินี แสนทอง และนางกำไล สีเพ็ง รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการ/สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครสภากาชาดไทยประจำอำเภอโนนนารายณ์ ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ สถานีกาชาดที่ 1 จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ อำเภอโนนนารายณ์ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมโครงการจังหวัดสุรินทร์สร้างสุข สร้างรอยยิ้ม ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ โรงเรียนบ้านขี้เหล็ก หมู่ที่ 14 ตำบลโนน อำเภอโนนนารายร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ มอบรถจักรยานแก่เด็กนักเรียนเรียนดีแต่ยากจน จำนวน 5 คันหน่วยงานราชการอีก 10คัน และมอบเครื่องอุปโภค-บริโภคแก่ราษฎรผู้ยากไร้ จำนวน 50 ชุด

วันศุกร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2566

บุญผะเหวดเทศมหาชาติแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง

บุญผะเหวดเทศมหาชาติ แห่พระเวสและนางมัทรีเข้าเมืองในประเพณีบุญผะเหวดและ มหกรรมเทศมหาชาติ ประจำปี 2566 คำว่า "ผะเหวด" เป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณีบุญเดือนสี่ หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน โดยพระเพณีนี้จะจัดขึ้นในเดือนที่ 4 ของไทยโดยสะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัดเพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุด ขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง เป็นกิจกรรมสำคัญในการจัดงานประเพณี บ้านระแงง อำเภอศีขรภูมิ ซึ่งจะมีขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง และอันเชิญจากกลางป่าทุ่งนาเดิ่นเข้าเมืองแห่รอบๆตลาดศีขรภูมิไปวัดบ้านระแงงในวันที่ 14 เมษายน 2566 ช่วงบ่ายประมาณ 14.30 น. จากนั้นจะเป็นการจุดบั้งไฟขอฝนหลังทำพิธีเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง ที่วัดระแงง และพิธีเทศมหาชาติวัดระแงงต่อเนื่องกัน ผู้แสดงเป็นพระเวสสันดร คือ นายณัฐพล พงษ์ปิยานุรัตน์ นางมัทรี แสดงโดย คุณกฤษณา สิริถาวร พระเจ้าสัญชัย แสดงโดย นายทองคำ นากอก พระนางผุสดี แสดงโดย แจ่มจันทร์ นากอก สำหรับวันรุ่งขึ้นถือเป็นวันที่สำคัญที่สุดในงานบุญผะเหวดคือมีการเทศน์เรื่องพระเวสสันดร ชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ ณ บริเวณวัดบ้านระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้าน ให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในภายหลังชาวอีสานจะจัดทำบุญผะเหวด ปีละหนึ่งครั้ง ระหว่างเดือน 3 เดือน 4 ไปจนถึงกลางเดือน 5 โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบๆ ศาลการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ 1 ถึงกัณฑ์สุดท้าย ชาวบ้านระแงงได้นำบุญผะเหวดเข้ามารวมกับบุญเดือนห้า (แห่พระสงกรานต์) บุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) เข้าด้วยกันกลายเป็นงานประเพณีบุญหลวงอันยิ่งใหญ่ สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมชมพิธีการแห่พระเวสสันดร และฟังเทศมหาชาติ ประเพณี ระหว่างวันที่ 14 - 15 เมษายน นี้ที่วัดบ้านระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์

วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2566

พิธีรำบวงสรวงฉลองสืบศรัทธาพระยาสุรินทร์ภักดี ศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก

เทศบาลเมืองสุรินทร์ จัดพิธีรำบวงสรวงฉลองสืบศรัทธาพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก นายวรรธนินทร์ ตั้งทวีสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสุรินทร์ เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองสุรินทร์ จัดโครงการรำบวงสรวงฉลองสืบศรัทธาพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ประจำปี 2566 ในวันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2566 เวลา 06.00 น. ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรกคือพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นที่สักการะของประชาชนสืบไป และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประเพณีและสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้าเมืองคนแรกของเมืองสุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและวางรากฐานการปกครองเมืองสุรินทร์จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่าในปีพุทธศักราช 2302 เชียงปุมและพี่น้องได้ใช้ภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์ซึ่งถือได้ว่ามีความเป็นเลิศในสมัยนั้นจับช้างเผือกที่แตกโรงมาจากกรุงศรีอยุธยา และนำมาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายคืนแด่สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับพระราชทานบำเหน็จความดีความชอบโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นหลวงสุรินทร์ภักดีปกครองหมู่บ้านเมืองที ต่อมาปีพุทธศักราช 2306 จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตย้ายจากหมู่บ้านเมืองทีมาอยู่บ้านคูปะทายซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ ต่อมาสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกเป็นเมืองปะทายสมันต์และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง และในปีพุทธศักราช 2321 สมัยกรุงธนบุรี ได้เข้าร่วมกองทัพของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปตีเวียงจันทร์และปราบจลาจลในปีพุทธศักราช 2324 จนได้รับชัยชนะทั้ง 2 ครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้ปูนบำเหน็จและเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ในปีพุทธศักราช 2329 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองปะทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และได้จัดตั้งเป็นจังหวัดสุรินทร์ตามการปรับปรุงรูปแบบการปกครองในปีพุทธศักราช 2451 เป็นต้นมา