เป็นบล็อกสื่อสารถึง ข่าวสาร วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น การกีฬา สร้างสรรสิ่งดีๆให้สังคม
srikho tv
ข่าวสาร ทั่วไป และวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี
วันศุกร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2566
บุญผะเหวดเทศมหาชาติแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง
บุญผะเหวดเทศมหาชาติ
แห่พระเวสและนางมัทรีเข้าเมืองในประเพณีบุญผะเหวดและ มหกรรมเทศมหาชาติ ประจำปี 2566
คำว่า "ผะเหวด" เป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณีบุญเดือนสี่ หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน โดยพระเพณีนี้จะจัดขึ้นในเดือนที่ 4 ของไทยโดยสะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัดเพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุด ขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง เป็นกิจกรรมสำคัญในการจัดงานประเพณี บ้านระแงง อำเภอศีขรภูมิ ซึ่งจะมีขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง และอันเชิญจากกลางป่าทุ่งนาเดิ่นเข้าเมืองแห่รอบๆตลาดศีขรภูมิไปวัดบ้านระแงงในวันที่ 14 เมษายน 2566 ช่วงบ่ายประมาณ 14.30 น. จากนั้นจะเป็นการจุดบั้งไฟขอฝนหลังทำพิธีเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง ที่วัดระแงง และพิธีเทศมหาชาติวัดระแงงต่อเนื่องกัน ผู้แสดงเป็นพระเวสสันดร คือ นายณัฐพล พงษ์ปิยานุรัตน์ นางมัทรี แสดงโดย คุณกฤษณา สิริถาวร พระเจ้าสัญชัย แสดงโดย นายทองคำ นากอก
พระนางผุสดี แสดงโดย แจ่มจันทร์ นากอก
สำหรับวันรุ่งขึ้นถือเป็นวันที่สำคัญที่สุดในงานบุญผะเหวดคือมีการเทศน์เรื่องพระเวสสันดร ชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ ณ บริเวณวัดบ้านระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้าน ให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในภายหลังชาวอีสานจะจัดทำบุญผะเหวด ปีละหนึ่งครั้ง ระหว่างเดือน 3 เดือน 4 ไปจนถึงกลางเดือน 5 โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบๆ ศาลการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ 1 ถึงกัณฑ์สุดท้าย ชาวบ้านระแงงได้นำบุญผะเหวดเข้ามารวมกับบุญเดือนห้า (แห่พระสงกรานต์) บุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) เข้าด้วยกันกลายเป็นงานประเพณีบุญหลวงอันยิ่งใหญ่ สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมชมพิธีการแห่พระเวสสันดร และฟังเทศมหาชาติ ประเพณี ระหว่างวันที่ 14 - 15 เมษายน นี้ที่วัดบ้านระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์
วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2566
พิธีรำบวงสรวงฉลองสืบศรัทธาพระยาสุรินทร์ภักดี ศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก
เทศบาลเมืองสุรินทร์ จัดพิธีรำบวงสรวงฉลองสืบศรัทธาพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก
นายวรรธนินทร์ ตั้งทวีสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสุรินทร์ เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองสุรินทร์ จัดโครงการรำบวงสรวงฉลองสืบศรัทธาพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ประจำปี 2566 ในวันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2566 เวลา 06.00 น. ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรกคือพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นที่สักการะของประชาชนสืบไป และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประเพณีและสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น
พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้าเมืองคนแรกของเมืองสุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและวางรากฐานการปกครองเมืองสุรินทร์จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่าในปีพุทธศักราช 2302 เชียงปุมและพี่น้องได้ใช้ภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์ซึ่งถือได้ว่ามีความเป็นเลิศในสมัยนั้นจับช้างเผือกที่แตกโรงมาจากกรุงศรีอยุธยา และนำมาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายคืนแด่สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับพระราชทานบำเหน็จความดีความชอบโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นหลวงสุรินทร์ภักดีปกครองหมู่บ้านเมืองที
ต่อมาปีพุทธศักราช 2306 จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตย้ายจากหมู่บ้านเมืองทีมาอยู่บ้านคูปะทายซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ ต่อมาสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกเป็นเมืองปะทายสมันต์และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง และในปีพุทธศักราช 2321 สมัยกรุงธนบุรี ได้เข้าร่วมกองทัพของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปตีเวียงจันทร์และปราบจลาจลในปีพุทธศักราช 2324 จนได้รับชัยชนะทั้ง 2 ครั้ง
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้ปูนบำเหน็จและเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ในปีพุทธศักราช 2329 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองปะทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และได้จัดตั้งเป็นจังหวัดสุรินทร์ตามการปรับปรุงรูปแบบการปกครองในปีพุทธศักราช 2451 เป็นต้นมา
วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2566
กองกำลังสุรนารี จัดพิธีสืบสานประเพณีสงกรานต์ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้บังคับบัญชา เนื่องในเทศกาลวันปีใหม่ไทย
ที่ห้องประชุมกองกำลังสุรนารี พลตรี วีระยุทธ รักศิลป์ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี พร้อมด้วย คณะนายทหาร กำลังพลหน่วยขึ้นตรง ร่วมพิธีทำบุญถวายเพลพระ และจัดพิธีสรงน้ำพระพระพุทธรูปประจำกองบัญชาการ เพื่อความเป็นสิริมงคลแต่ตนเอง และกำลังพล เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 วันปีใหม่ไทย เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม และเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย
จากนั้นที่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการกองกำลังสุรนารี คณะนายทหาร และกำลังพลหน่วยขึ้นตรงกองกำลังสุรนารี ได้ร่วมกันรดน้ำขอพร ผู้บังคับบัญชา ซึ่ง พลตรี วีระยุทธ รักศิลป์ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ได้อวยพร และขอขอบคุณ พร้อมให้กำลังใจแด่กำลังพลทุกหน่วย ทุกนายที่ได้ร่วมกันทุ่มเทเสียสละ และตั้งใจปฏิบัติทำงานในความรับผิดชอบ แม้จะเป็นวันหยุดในช่วงเทศกาล แต่ก็ไม่ได้หยุดภารกิจที่ต้องดูแลรับผิดชอบอธิปไตยชองชาติ อันเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผลให้การปฏิบัติติงานบรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ก่อเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนต่อไป
วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2566
กองกำลังสุรนารี จัดการแข่งขันวิ่งมินิมาราธอน ประจำปี 2566
กองกำลังสุรนารี จัดการแข่งขันการวิ่งมินิมาราธอน ประจำปี 2566 ชมธรรมชาติ และเยือนปราสาทตาเมือนธม
ที่โรงเรียนบ้านตาเมียง ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดงสุรินทร์ พลตรี วีระยุทธ รักศิลป์ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันการวิ่งมินิมาราธอน ประจำปี 2566 ในพื้นที่รับผิดชอบ ของหน่วยเฉพาะกิจที่ 2 กองกำลังสุรนารี โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้กำลังพลของกองกำลังสุรนารี ได้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งสามารถปฏิบัติ
ได้ทุกวัย อีกทั้งยังเป็นการ ให้กำลังพลและประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้มีโอกาสชมทัศนีย์ภาพศึกษาภูมิประเทศในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยการแข่งขันในครั้งนี้มีนักวิ่งเข้าร่วมกว่า 500 คน
ทั้งนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกิจกรรมและมีโอกาส สัมผัสกับสภาพพื้นที่ รวมถึงการปฏิบัติงาน ของกำลังพลของหน่วยในพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยปล่อยจุดเริ่มต้น ณ โรงเรียนบ้านตาเมียง ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ไปยังจุดสิ้นสุด ณ ปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ รวมระยะทาง 11.8 กิโลเมตร โดยการแข่งขันประกอบไปด้วย รุ่นอายุ 18 - 29 ปี รุ่นอายุ 30 - 39 ปี รุ่นอายุ 40 - 49 ปี และรุ่นอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมีรางวัล เป็นถ้วยรางวัล, ใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล และเหรียญรางวัล
จากนั้นผู้เข้าแข่งขัน ต่างร่วมกันมอบสิ่งของ เป็น อาหารและเครื่องดื่ม แก่กำลังพลที่ปฏิบัติติงานในพื้นที่ชายแดนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ พร้อมเยี่ยมชมความงดงามของปราสาทตาเมือนธมในครั้งนี้อีกด้วย
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)