เป็นบล็อกสื่อสารถึง ข่าวสาร วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น การกีฬา สร้างสรรสิ่งดีๆให้สังคม
srikho tv
ข่าวสาร ทั่วไป และวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี
วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2565
มหกรรมส่งเสริมพัฒนาการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา
พิธีเปิดมหกรรมส่งเสริมพัฒนาการค้าชายแดนไทย -- กัมพูชา
ภายใต้โครงการนำร่องสุรินทร์โมเดลครั้งที่ 2
วันที่ 23 กันยายน 2555 เวลา 14:00 น ณ.ตลาดอาเซียน ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
โดยมี นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และนายอนุ โสะเพียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิด มีคณะกรรมการกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการและสื่อมวลชน เข้าร่วมงานในพิธี ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ผนวกกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม พ่อค้าแม่ขายรายเล็ก รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ล้วนแต่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาแรงงานย้ายถิ่น เนื่องจากถูกเลิกจ้างและยังเกิดปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ
ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการค้าชายแดน รวมถึงส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างโอกาส ทางการค้าการประกอบอาชีพ นำเงินตราเข้าสู่ท้องถิ่น สร้างรายได้ให้ประชาชน กระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก ที่คณะกรรมธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในเรื่องดังกล่าว และได้จัดงานมหกรรมส่งเสริมการพัฒนาการค้าชายแดนไทย--กัมพูชา ขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนของจังหวัดสุรินทร์ สร้างโอกาสทางการค้าระหว่าง 3 ประเทศ(ไทย กัมพูชา เวียดนาม) และขยายโอกาสทางการตลาดสินค้าและบริการสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการนำของดีประจำถิ่นมาพัฒนาและต่อยอดทางการค้า และการเงินพื้นฐาน ขอแสดงความขอบคุณกับทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆให้หมดไปและเป็นแม่แบบ ของการจัดงานการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนที่ด่านอื่นๆอีก 35 ด่าน ทั่วประเทศ
การเปิดงานมหกรรมส่งเสริมการพัฒนาการค้าชายแดน ไทย--กัมพูชา ภายใต้โครงการนำร่องสุรินทร์โมเดลครั้งที่ 2 ท่ามกลางประชาชนทั้งไทยและกัมพูชา ที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นจำนวนมาก
วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2565
แซนโฏนตาอำเภอสังขะ
เทศบาลตำบลสังขะสืบสานประเพณีแซนโฎนตา บุญเดือนสิบของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่ลูกหลานจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
วันที่ 22 กันยายน 2565 เวลา 09.09 น. นายธาตรี สิริรุ่งวนิช นายอำเภอสังขะ เป็นประธานในการประกอบพิธีแซนโฏนตาบูชาบรรพบุรุษ โดยมีนางกิ่งกาญจน์ พัวไพฑูรย์ นายกเทศมนตรีตำบลสังขะ นายเสียง คำแสน รองนายกฯ นายเฉลิมชัย นามม่วง ประธานสภาฯ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและคณะผู้บริหารส่วนตำบลทั้ง 12 แห่ง ร่วมกันเซ่นไหว้อนุสาวรีย์พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ (เจ้าเมืองสังขะคนแรก) เซ่นไหว้ศาลปะกำช้าง รูปปั้นช้าง และศาลหลักเมืองสังขะ โดยมีหมอปะกำช้างและหมอพราหมณ์ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้ได้มีการจัดพิธีรำบวงสรวงบูชาบรรพบุรุษจากตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 12 แห่ง จำนวน 300 คน และการแสดงจากโรงเรียนสังขะวิทยาคม วิทยาลัยการอาชีพสังขะ และโรงเรียนสังขะ
ประเพณีวันแซนโฏนตา เป็นวัฒนธรรมคนไทยเชื้อสายเขมร โดยครอบครัวและเครือญาติจะได้กลับมาพบหน้ากัน เพื่อทำบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เฉกเช่นเดียวกับ "วันสารทไทย", "วันสารทจีน" และในวัฒนธรรมของชาวเขมรก็มีประเพณี "วันสารทเขมร" หรือที่เรียกกันว่า "ประเพณีแซนโฎนตา"
วันแซนโฎนตา หรือ ไงแซนโฎนตา ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คำว่า "ไง" หมายถึง วัน คำว่า "แซน" หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง คำว่า "โฎน" หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า "ตา" หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวไทยเชื้อสายเขมร ในช่วงเวลานี้ ลูกหลานที่ไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ จะเดินทางกลับมาหาครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ
ทั้งนี้ ชาวไทยเชื้อสายเขมรมีความเชื่อว่า เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด เพื่อให้ผู้รับกรรมที่อยู่ในนรกได้เดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวเขมรจึงจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ในตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 และพอรุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะนำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เรียกว่า "วันเบ็นตูจ" โดยเชื่อว่าผีจะออกมาจากยมโลกได้ 15 วัน หลังจากนั้นต้องกลับไปรับกรรมในยมโลกตามเดิม จากวันเบ็นตูจนับไปอีก 15 วัน (นับจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10) จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คือ "วันเบ็นทม" ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา อีกส่วนสำคัญคือการเตรียม "บายเบ็ญ" โดยเตรียมอาหาร ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ ใส่กระทงเล็ก ๆ หลายใบ และจัดใส่กระทงใบใหญ่สัก 2 ใบ นำมาตั้งไว้นอกรั้วบ้านในวันแรม 15 ค่ำ เพื่อให้ผีที่ไม่มีญาติ การประกอบพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ทั้งอาหารคาว-หวาน ผลไม้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน ประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน และประกอบพิธีกรรมที่วัด โดยการทำเช่นนี้เพื่อให้บรรพบุรุษรับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้บ่วงกรรมที่มีบรรเทาลง ซึ่งพี่น้องชาวไทยเชื้อสายเขมรยึดถือประเพณีนี้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565
เชิญสิ่งของพระราชทาน แก่ราษฎรที่ประสบอัคคีภัย
จังหวัดสุรินทร์ เชิญสิ่งของพระราชทานและกระแสความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ราษฎรที่ประสบเหตุอัคคีภัยในพื้นที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
วันที่ 21 กันยายน 2565 เวลา 14.00 น.
ประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระอุปถัมภ์ประจำจังหวัดสุรินทร์ ได้มอบหมายให้นาย เสริมศักดิ์ สีสัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เป็นประธานเชิญสิ่งของพระราชทาน และกระแสความห่วงใยของพระบาทสมพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นกำลังใจแก่ ครอบครัวผู้ประสบอัคคีภัย นางสาวรุ่งทิวา ธรรมสุข ราษฎรที่อาศัยในโครงการทับทิมสยาม 04 บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 10 บ้านทับทิมสยาม04 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ที่ประสบภัยพิบัติอัคคีภัย เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565
ในการนี้ นายธาตรี สิริรุ่งวนิช นายอำเภอสังขะ เป็นผู้กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรผู้ประสบอัคคีภัยอย่างหาที่สุดมิได้…
โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ประจำจังหวัดสุรินทร์
หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอสังขะ
นางสาวศิรินภา พัวพัฒนโชติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน
รวมทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือ และมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ เครื่องอุปโภคบริโภค ให้ผู้ประสบภัยดังกล่าว
วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565
สภ. บัวเชดประสบความสำเร็จ การแก้ไขปัญหายาเสพติด บูรณาการ แบบครบวงจร
สภ.บัวเชด ประสบความสำเร็จในแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบ บูรณาการ ครบวงจร โดยมีชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ให้ความร่วมมือ จนเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 3 เดือน
วันที่ 15 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. ที่ศาลากลางหมู่บ้าน บ้านตาปิม หมู่ที่ 5 ตำบลบัวเชด อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ นายชนะชล มูลจันทร์ ประธาน กต.ตร.สภ.บัวเชด เป็นประธานปิดโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565
โดย พ.ต.อ.เฉลิมศักดิ์ ไชยณรงค์ศักดิ์ ผกก.สภ.บัวเชด มอบหมายให้ พ.ต.ท.ธีระยุทธ สิงห์ทอง รรท.สวป.
พ.ต.ต.ชรินทร์ เดชฤทธิ์ สว.สส. ร.ต.อ.นภดล ตะคอนรัมย์ รอง.สว.สวป. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืนฯ
พร้อมด้วยคณะกรรมการ กต.ตร.สภ.บัวเชด
ตามที่สถานีตำรวจภูธร สภ.บัวเชด ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆได้จัดทำโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามยุทธศาสตร์ชาติ แบบครบวงจร ณ บ้านตาปิม หมู่ที่ 7 ตำบลบัวเชด อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยสถานีตำรวจภูธร สภ.บัวเชด ได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาพักอาศัยอยู่กับชาวบ้าน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อสม. อบต. หัวหน้าคุ้มหมู่บ้าน และชาวบ้านเป็นอย่างดี ซึ่งได้มีผู้สมัครใจเอารับการบำบัดรักษาและเลิกยาเสพติด อีกทั้งได้จัดฝึกอบรมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อสนับสนุนในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งถือได้ว่าโครงการฯดังกล่าวประสบความสําเร็จด้วยดี
โดยในวันนี้ฯ ได้มีพิธีปิดโครงการฯและส่งมอบคนดีคืนสู่สังคม ร่วมทั้งการมอบเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้สูงอายุในหมู่บ้านจำนวน 10 ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายชนะชล มูลจันทร์ ประธาน กต.ตร.สภ.บัวเชด
สำหรับโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ แบบครบวงจร เป็นการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2565 ตามแนวคิดการแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่ ที่ต้องการเปลี่ยนกรอบแนวความคิดจากสงครามยาเสพติดเป็นการใช้สาธารณสุขนำการแก้ไขปัญหายาเสพติด เน้นสุขภาพผู้ป่วย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ซึ่งเป็นพื้นฐานของปัญหายาเสพติด นำมาปรับใช้กับการแก้การแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย โดยจังหวัดนครสุรินทร์เป็นจังหวัดชายแดน เป็นเมืองหน้าด่านที่ทำหน้าที่ป้องกันการลักลอบนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นพื้นที่ที่เครือข่ายยาเสพติดใช้เป็นพื้นที่นำเข้ายาเสพติด และยังมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมาชิกในโครงการชุมชนยั่งยืน สามารถช่วยแจ้งข้อมูลและข่าวสารต่างๆให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เพื่อเป็นการช่วยกันปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่
วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2565
โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน จัดรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออก
โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก”
วันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น. พลตรีสาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก ณ โดมอเนกประสงค์ ค่ายวีรวัฒน์ มณฑลทหารบกที่ 25 อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมี พันเอกสุรังค์ วิทยาวงศรุจิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน และ ผสวป. ให้การต้อนรับ ซึ่งโครงการมีกิจกรรมประกอบด้วย การให้ความรู้เรื่องไข้เลือดออก การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และร่วมเดินรณรงค์ในบริเวณบ้านพักมณฑลทหารบกที่ 25 ทำให้ กำลังพลและครอบครัวมีความตระหนักและ ตื่นตัวในการป้องกันการเกิดไข้เลือดออก #โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน #มณฑลทหารบกที่25 #กองทัพภาคที่2
วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565
อำเภอศีขรภูมิจัดอบรมส่งเสริม ศักยภาพ การปฏิบัติหน้าที่ ผู้นำหมู่บ้าน
อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ จัดกิจกรรมโครงการอบรมส่งเสริมศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่แก่ผู้นำหมู่บ้าน
วันนี้ (13 ก.ย. 65) เวลา 09.00 - 16.30 น. นายกิตติ สัตย์ซื่อ นายอำเภอศีขรภูมิ พร้อมด้วย นักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ จัดกิจกรรมโครงการอบรมส่งเสริมศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่แก่ผู้นำหมู่บ้าน ในเขตพื้นที่อำเภอศีขรภูมิ จำนวน 8 ตำบล รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 100 คน เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" แบบบูรณาการ ส่งเสริมศักยภาพผู้นำระดับอำเภอ ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถสร้างผู้นำต้นแบบ นำไปสู่การขยายผลในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ดีงามและมีความสุขอย่างยั่งยืน (Change for Good)
ในการนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้เยี่ยมชมแปลงสาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เพื่อสร้างการรับรู้และนำตัวอย่างการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยมีพระอาจารย์สุเนตร ธมฺมธีโร เลขานุการเจ้าคณะตำบลหนองเหล็ก เป็นผู้นำเยี่ยมชมและบรรยายให้ความรู้
ณ โรงเรียนจารย์วิทยาคาร ตำบลหนองเหล็ก อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)